วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ส.อ.ท.จับมือ วิศวะ จุฬาฯ ช่วย SMEs หลังน้ำลด เดินหน้าซ่อมเครื่องจักร สนับสนุนอุปกรณ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยี

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และงานแถลงข่าวระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรื่อง “การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย” เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้อง ส.อ.ท. 1 ชั้น 4   สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เดินหน้าซ่อมเครื่องจักร สนับสนุนอุปกรณ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยี  แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูให้สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถพลิกฟื้นกลับ คืน สู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด




นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์  นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมประสงค์ บุญยะชัย    รองประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และนายอรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดพานิชย์และต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในการแถลงข่าว  “การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย” ร่วมกันว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี 2554 นี้ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จนไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกระทบต่อผู้ใช้แรงงานจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย
ปัญหาของสถานประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบหลังน้ำลด คือ การขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือ และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมเครื่องจักร ซึ่งในเรื่องดังกล่าวในส่วนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ได้มีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการฟื้นฟูเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ถูกน้ำท่วมขังเข้ามาดำเนินการเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ส่วนใหญ่ จะต้องดำเนินการเองภายใต้ข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะประสบการณ์ของช่างที่จะดำเนินการ
“เครือข่ายความร่วมมือ” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)     จึงได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จึงได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เสียหายเนื่องจากอุทกภัย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สถานประกอบการต่างๆ เหล่านั้น สามารถประกอบกิจการได้โดยเร็วที่สุด
การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วย “การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย”   ของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญ ที่ทั้ง 3 หน่วยงานมีเจตนารมย์ร่วมกันที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบาการ SMEs หลังน้ำลด โดยได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือใน 5 เรื่อง ดังนี้ 1. พัฒนาและรวบรวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับฟื้นฟูเครื่องจักร อุปกรณ์หลังน้ำลด  2. ดำเนินการฟื้นฟูเครื่องจักรอุปกรณ์หลัก พร้อมฝึกอบรมช่างของผู้ประกอบการ เพื่อขยายขอบข่ายการให้บริการ 3. ให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ช่างฝีมือในสาขาต่างๆ เช่น ไฟฟ้า โยธา เครื่องกล คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ตลอดจนบุคลากรด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 4. จัดหาและสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือ และ 5. เผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายช่องทางสื่อต่างๆ ของเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูเครื่องจักรอุปกรณ์หลังน้ำลด
อย่างไรก็ตาม ในด้านการช่วยเหลือการซ่อมแซมเครื่องจักรนั้น ทั้ง 3 หน่วยงาน มีนโยบายที่จะเน้นการเข้าไปซ่อมแซมใน 2 ส่วนสำคัญคือ แผงวงจรอิเล็คทรอนิก ซึ่งเปรียบเสมือนสมองคน และส่วนกำลัง      ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมอเตอร์ ที่เปรียบเสมือนหัวใจคน เพราะหาก 2 ส่วนนี้ไม่ทำงานก็ถือว่าเครื่องจักรไม่สามารถเดินเครื่องต่อไปได้ เราจึงมีนโยบายในการเร่งกู้ทั้งสองส่วนให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็วที่ สุด ด้วยการถ่ายทอดเทคนิค มอบน้ำยาทำความสะอาดเครื่องจักร และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ หรือบุคลากรใน    สถานประกอบการเพื่อให้สามารถดำเนินการซ่อมเครื่องจักรเองได้ และอีกหนึ่งเจตนารมย์ที่ทั้ง 3 หน่วยงานคาดหวังให้เกิดขึ้นจากการการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสถานประกอบการที่ได้รับความรู้ด้านการซ่อมแซมเครื่อง จักรแล้ว ไปสู่สถานประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบหลังน้ำลดได้ต่อไปอีกด้วย
ด้านนายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดพานิชย์และต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวร่วมกันในฐานะผู้สนับสนุนการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยใน ครั้งนี้ว่ากลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมคือ การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้ฟื้นสภาพกลับมาโดยเร็ว ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องประกอบด้วยความรู้ เครื่องมือ และกรรมวิธี โดย บมจ.เอไอเอส และ บมจ.ปตท. เห็นร่วมกันว่ากิจกรรมความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาค อุตสาหกรรม โรงงานต่างๆ ได้รับความรู้ เครื่องมือ และกรรมวิธีที่จะทำให้ฟื้นฟูได้เร็ว และสามารถเดินเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางบริษัทจึงได้ให้การสนับสนุนเงินทุนจำนวน 1 ล้านบาทแก่โครงการนี้ เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเร็ว เป็นรูปธรรรม และสามารถดำเนินการได้ทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น